top of page

วันลอยกระทง

ประวัติความเป็นมาวันลอยกระทง

    ประเพณีลอยกระทง การลอยประทีปหรือการลอยโคม มีปรากฏหลักฐานในวรรณคดีเรื่องนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นสนมเอกของพระร่วงได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม เพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแคว้นทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา นางนพมาศได้ทำกระทงลอยที่แปลกจากนางสนมอื่นๆ เมื่อพระร่วงเจ้าได้เสด็จทางชลมารคทอดพระเนตรเห็นกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระทัย จึงมีราชโองการให้จัดพิธีลอยกระทงขึ้นทุกปีในคืนวันเพ็ญเดือน สิบสองของทุกปี พระราชพิธีนี้จึงถือปฏิบัติมากระทั่งถึงปัจจุบันประมาณ 700 กว่าปีมาแล้ว   

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายในพระราชนิพนธ์เรื่อง "พระราชพิธีสิบสองเดือน" ความตอนหนึ่งว่า
    "การฉลองพระประทีปลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทัวกัน ไม่เฉพาะแต่การหลวงจะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่ได้มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์ อันใดเกี่ยวข้อง เนื่องในการลอยพระประทีปนั้น แต่ควรนับว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ" 

ความมุ่งหมายในการลอยกระทง มีจุดมุ่งหมายดังนี้

  1. เพื่อขอขมาลาโทษแด่พระแม่คงคา เพราะได้อาศัยน้ำกินและใช้ และมนุษย์มักจะทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำจึงควรขอขมาลาโทษท่าน

  2. เพื่อสักการะรอยพระพุทธบาทนัมมทานที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาทประดิษฐานไว้บนหาดทราย แห่งนั้น

  3. เพื่อบูชาพระอุปคุต ซึ่งชาวไทยภาคเหนือให้ความเคารพอย่างสูง โดยตำนานเล่าว่าอุปคุตนั้นเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีอิทธิฤทธิ์ สามารถปราบมารได้ ท่านจะนั่งสมาธิอยู่บนบัลลังก์แก้ว ในท้องมหาสมุทร

  4. เพื่อลอยทุกข์ โศก โรค ภัย และความอัปรีย์จัญไร เหมือนกับการลอบบาป ของศาสนาพราหมณ์ ถ้าใครเก็บกระทงไป เท่ากับเก็บความทุกข์ หรือเคราะห์กรรมเหล่านั้น แทนเจ้าของกระทง   

กิจกรรม

      การลอยกระทงในปัจจุบัน ชาวบ้านจะเตรียมกระทง ที่ทำจากวัสดุที่หาง่าย ตามธรรมชาติเช่น หยวกกล้วย และดอกบัวนำำมาประดิษฐ์ เป็นกระทงที่สวยงามปักธูปเทียนและดอกไม้ เครื่อง สักการบูชา อธิฐานในสิ่งที่มุ่งหวัง พร้อมขอขมาต่อ พระแม่คงคา นำไปลอย ตามแม่น้ำ วัด หรือสถานที่จัดงาน นอกจากนี้ยังมีการจุดพลุ ตะไล และ ดอกไม้ไฟ ทางจังหวัดสุโขทัยมักจะมีการจัดงาน เผาเทียนเล่นไฟ

ธนากิต. (2541)  "วันสำคัญของไทย"   กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก.. บุญเติม  แสงดิษฐ.  (2541)  "วันสำคัญ" กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พชรการพิมพ์

bottom of page